วันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

บาตรศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๔ บาตรพระพุทธเจ้าช่วยปัดเป่าอุปัทวะ

 

บาตรศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้า

 

ตอนที่ ๔ บาตรพระพุทธเจ้าช่วยปัดเป่าอุปัทวะ ?

ที่มาภาพ  https://www.pinterest.com/pin/819514463435595838/

 

หลังจากตรัสรู้ธรรม ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลก

     หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วเสวยวิมุตติสุขแล้ว เสด็จเดินทางไปโปรดปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันจำพรรษาที่ ๑ เมื่อออกพรรษาแล้วเดินทางไปโปรดชฏิล ๓ พี่น้องที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แล้วพระพุทธองค์เสด็จมาพร้อมพระอรหันต์พันกว่ารูปที่ลัฏฐิวันสวนตาลหนุ่มด้านทิศตะวันตกของกรุงราชคฤห์ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวารตามปฏิญญาที่เคยให้ไว้

เมื่อพระราชาพิมพิสารพร้อมด้วยบริวารแสนกว่าคนบรรลุธรรมและถึงไตรสรณาคมน์แล้ว ได้เสด็จผ่านราชคฤห์เพื่อรับสวนไผ่เวฬุวัน เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาและประทับอยู่ที่เมืองราชคฤห์นั้นเพื่อประโยชน์และความสุขของมหาชน

ที่มาภาพ https://in.pinterest.com/pin/8092474301803889/

 

กรุงเวสาลี จากเมืองที่รุ่งเรือง ก็เกิดอุปัทวะภัยร้ายแรง

 ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือห่างจากกรุงราชคฤห์นั้นไปราว ๘ โยชน์(ราว ๑๒๘ กม.)และต้องข้ามแม่น้ำคงคาไปนั้น  มีเมืองของเจ้าลิจฉวี ชื่อว่า กรุงเวสาลี ในแคว้นวัชชี ซึ่งเป็นเมืองมั่นคงไพบูลย์ มีคนมากมาย มีข้าวปลาอาหารหาได้ง่าย เจริญรุ่งเรื่องด้วยอาราม อุทยาน สถานที่อยู่ บริวารและสมบัติ แวดล้อมรอบด้วยปราการ ๓ ชั้น ระหว่างคาวุต(๔ กม.)หนึ่ง ๆ เพราะเหตุที่นครนั้นถูกขยายให้กว้างขวางออกบ่อย ๆ จึงเกิดนามว่า เวสาลี

และในกรุงเวสาลีนั้นมีเจ้าอยู่ถึง ๗,๗๐๗ พระองค์ พระยุพราชเสนาบดีและภัณฑาคาริกเป็นต้นก็มีจำนวนเหมือนกัน ดังนั้นในเมืองนั้นยังมีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง  มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีอาราม ๗,๗๐๗ อาราม  มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ นับเป็นพระนครที่เจริญรุ่งเรืองมาก

         ต่อมากรุงเวสาลี นครหลวงแห่งแคว้นวัชชี เกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรง ๓ อย่าง คือ ๑.) ทุพภิกขภัย (ข้าวยากหมากแพง)  ๒.) อมนุสสภัย (ภูติผีปีศาจทำร้าย) ๓.) โรคภัย (เกิดโรคระบาดคร่าชีวิตผู้คน) โดยเริ่มจากข้าวยากหมากแพงก่อน เนื่องจากเกิดฝนแล้งติดต่อกันหลายปี จนข้าวกล้าแห้งตายเพราะถูกแดดแผดเผา ผู้คนจึงอดอยากล้มตายจำนวนมาก คนยากจนเริ่มตายก่อนก็กลายเป็นซากศพอนาถาไร้คนจัดการ ถูกทิ้งเกลื่อนนคร ต่อมาก็ถูกภูตผีปีศาจทำร้าย เพราะพวกอมนุษย์เมื่อได้กลิ่นซากศพก็พากันเข้าสู่นคร ทำอันตรายแก่หมู่มนุษย์ ทำให้คนตายเพิ่มจำนวนมากขึ้นไปอีก จากนั้นก็เกิดโรคระบาดคร่าชีวิตผู้คน เพราะเมื่อไม่มีความสะอาดเพราะปฏิกูลแพร่กระจายไป โรคระบาดก็เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนล้มตายเหลือที่จะคณานับได้

ที่มาภาพ https://www.pinterest.com/pin/457889487098767232/

 

พระบาทแรกวางลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษตกลงมาทันใด

         เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น พระราชาและชาวเมืองจึงได้หาทางแก้ไขหลายทาง สุดท้าย จึงตกลงกันที่จะไปกราบอาราธนานิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาที่เมืองเวสาลี เพื่อช่วยทำให้อุปัทวะร้ายสงบลง เมื่อกราบอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดได้สมความตั้งใจ ทั้งพระเจ้าพิมพิสารและเจ้าวัชชีจึงทำสักการะและต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ตลอดเส้นทางเสด็จของพระพุทธเจ้าพร้อมพระอรหันต์ จัดโปรยดอกไม้ตลอดเส้นทางทั้ง ๒ ฝั่งระหว่างกรุงราชคฤห์ จนข้ามแม่น้ำคงคาจนไปถึงกรุงเวสาลีตามลำดับ

มีเหตุการณ์ที่สำคัญ พอพระผู้มีพระภาคเจ้ายกพระบาทแรกวางลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็โปรยเม็ดลงมา ชนเหล่าใดต้องการจะเปียก ชนเหล่านั้นเท่านั้นย่อมเปียก ผู้ไม่ต้องการเปียกก็ไม่เปียก ในที่ทุกแห่ง น้ำย่อมไหลไปเพียงแค่เข่า แค่ขา แค่สะเอว แค่คอ ซากศพทั้งปวงถูกน้ำพัดส่งลงสู่แม่น้ำคงคา พื้นดินก็สะอาดสะอ้าน

ที่มาภาพ https://web.facebook.com/sookJaii99/photos/a.152847505373620/562970831027950/

 

น้ำมนต์จากบาตรพระพุทธเจ้าช่วยปัดเป่าอุปัทวะ ?

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงเมืองเวสาลี พระอินทร์พร้อมด้วยเทพบริวารเป็นอันมากได้มาเฝ้าในสถานที่นั้น ด้วยพุทธานุภาพและเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่เสด็จมา ทำให้พวกอมนุษย์ส่วนหนึ่งต้องหลบหนีออกจากเมืองไป เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาถึงนอกพระนครเมืองเวสาลี พระพุทธองค์ได้ตรัสรัตนสูตรและให้พระอานนท์จำไปเจริญพุทธมนต์พร้อมกับสิ่งที่เป็นอุปกรณ์สำคัญก็คือ บาตรสิลาของพระพุทธเจ้านั้นเอง[1] (เถโร          สตฺถารา ทินฺนํ รตนสุตฺตํ อุคฺคณฺหิตฺวา สตฺถุ เสลมยปตฺเตน อุทกํ อาทาย นครทฺวาเร ฐิโต)

ท่านพระอานนท์จึงไปสาธยายพระปริตรนี้รอบเมือง ได้เที่ยวเดินไประหว่างปราการ ๓ ชั้นแห่งกรุงเวสาลีพร้อมกับพวกเจ้าลิจฉวีราชกุมาร ทำพระปริตรตลอดสามยาม เพราะกลัวต่ออานุภาพพระปริตร พวกอมนุษย์ที่ยังเหลืออยู่ได้หลบหนีไปหมดจนโรคในกายชาวเมืองจึงหายสงบลง  จากนั้นชาวเมืองได้มาประชุมกันที่สัณฐาคารโรงประชุมของพระนคร และได้นิมนต์พระพุทธองค์เสด็จมายังเมืองนี้ จากนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสรัตนปริตรนี้แก่พุทธบริษัทที่มาประชุมกันในที่นั้น ตามที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาปรมัตถโชติกา ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ พรรณนารัตนสูตร ความว่า

“ในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลีนั่นเอง รัตนสูตรนี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสใกล้ประตูกรุงเวสาลี เพื่อกำจัดอุปัทวะเหล่านั้น ท่านพระอานนท์ก็เรียนเอา เมื่อจะกล่าวเพื่อเป็นปริตร [ป้องกันอุปัทวะ] จึงเอาบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าตักน้ำมา เดินประพรมไปทั่วพระนคร  (เอวํ ภควโต เวสาลิํ อนุปฺปตฺตทิวเสเยว เวสาลินครทฺวาเร เตสํ อุปทฺทวานํ ปฎิฆาตตฺถาย วุตฺตมิทํ รตนสุตฺตํ อุคฺคเหตฺวา อายสฺมา อานนฺโท ปริตฺตตฺถาย ภาสมาโน ภควโต ปตฺเตน อุทกมาทาย สพฺพนครํ อพฺภุกฺกิรนฺโต อนุวิจริฯ)

พอพระเถระกล่าวว่า ยงฺกิญฺจิ เท่านั้น พวกอมนุษย์ที่อาศัยกองขยะและที่ฝาเรือนเป็นต้น ซึ่งยังไม่หนีไปในตอนแรก ก็พากันหนีไปทางประตูทั้ง ๔ ประตูทั้งหลาย ก็ไม่มีที่ว่าง อมนุษย์บางพวก เมื่อไม่ได้ที่ว่างที่ประตูทั้งหลาย ก็ทลายกำแพงเมืองหนีไป

ที่มาภาพ https://www.pinterest.com/pin/535646949435126569/

 

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรัตนสูตรแก่มหาชน

พอพวกอมนุษย์พากันไปแล้ว ที่เนื้อตัวของพวกมนุษย์ทั้งหลาย โรคก็สงบไป พวกมนุษย์ทั้งหลาย ก็พากันออกมาบูชาพระเถระด้วยดอกไม้ของหอมเป็นต้นทุกอย่าง มหาชนเอาของหอมทุกอย่างฉาบทาสัณฐาคารที่ประชุม ท่ามกลางพระนคร ทำเพดานขจิตด้วยรัตนะ ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ปูพุทธอาสน์ลง ณ ที่นั้นแล้วนำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามา

พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเข้าสู่สัณฐาคาร ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูไว้ ทั้งภิกษุสงฆ์ คณะเจ้า และมนุษย์ทั้งหลายก็นั่ง ณ อาสนะที่เหมาะที่ควร แม้ท้าวสักกะ จอมทวยเทพก็ประทับนั่งใกล้กับเทวบริษัท ในเทวโลกทั้งสอง ทั้งเทวดาอื่น ๆ ด้วย แม้ท่านพระอานนทเถระ ก็เที่ยวเดินไปทั่วกรุงเวสาลี ทำอารักขาแล้ว ก็มาพร้อมกับชาวกรุงเวสาลี นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสรัตนสูตรนั้นนั่นแหละแก่ทุกคนแล”

จากเนื้อความที่ยกมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าพุทธานุภาพ เทวานุภาพ และอานุภาพพระปริตร ได้ช่วยให้ภัย ๓ ประการ คือ ๑.) ทุพภิกขภัย (ข้าวยากหมากแพง)  ๒.) อมนุสสภัย (ภูติผีปีศาจทำร้าย) ๓.) โรคภัย (เกิดโรคระบาดคร่าชีวิตผู้คน) ได้บรรเทาเบาบางจนหมดสิ้นไป โดยเริ่มจากอมนุสสภัย จากนั้นโรคภัยก็สงบระงับดับไป เมื่อภัยสองอย่างหมดไป ผู้คนมาเป็นปกติ  ภัยที่สามคือทุพภิกขภัย ย่อมหมดไปได้เช่นกัน

ที่มาภาพ https://web.facebook.com/lahoremuseumofficial/posts/3267546309948527?_rdc=1&_rdr

และบาตรสิลาพระพุทธเจ้าก็นับได้ว่ามีส่วนสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ เพราะเมื่อพระอานนท์นำบาตรพรพุทธเจ้าไปใช้ใส่น้ำรดหรือประพรมน้ำ(พร้อมสวด)พระปริตรพุทธมนต์ ไปพร้อมกัน จนทำให้เหตุการณ์คือ ๑.) อมุสสภัยและโรคร้ายในที่ต่างๆ ได้หมดไปในที่สุด ๒.) เมื่อพิเคราะห์ดู กว่าจะประพรมทั่วพระนครตลอด ๓ ยาม คือ ๑๒ ชั่วโมง และถ้าน้ำไม่หมดจากบาตรใช่เพียงบาตรใบเดียว จึงถือได้ว่าอัศจรรย์เหมือนกัน ซึ่งความอัศจรรย์และศักดิ์สิทธิ์บาตรพระพุทธเจ้านี้ ก็ตรงกับเรื่องราวและบันทึกที่ได้กล่าวถึงบาตรพระพุทธเจ้าที่มีความศักดิ์ตามหลักฐานที่จารึกไว้ในหลายแห่งอยู่เช่นกัน ส่วนเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ?     

                                                                 โปรดติดตามตอนต่อไป

                                               



[1] สตฺถา สายํ นครทฺวาเร ฐตฺวา อานนฺทตฺเถรํ อามนฺเตสิ "อิมํ อานนฺท รตนสุตฺตํ อุคฺคณฺหิตฺวา ลิจฺฉวิกุมาเรหิ สทฺธึ วิจรนฺโต เวสาลิยํ ติณฺณํ ปาการานํ อนฺตเร ปริตฺตํ กโรหีติ. เถโร สตฺถารา ทินฺนํ รตนสุตฺตํ อุคฺคณฺหิตฺวา สตฺถุ เสลมยปตฺเตน อุทกํ อาทาย นครทฺวาเร ฐิโต, ปณิธานโต ปฏฺฐาย ตถาคตสฺส "ทส ปารมิโย ทส อุปปารมิโย ทส ปรมตฺถปารมิโยติ สมตึส ปารมิโย ปญฺจ มหาปริจฺจาเค "โลกตฺถจริยา ญาตตฺถจริยา พุทฺธตฺถจริยาติ ติสฺโส จริยาโย ปจฺฉิมภเว คพฺภาวกฺกนฺตึ ชาตึ อภินิกฺขมนํ ปธานจริยํ โพธิปลฺลงฺเก มารวิชยํ สพฺพญฺญุตญาณปฺปฏิเวธํ ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตนํ นว โลกุตฺตรธมฺเมติ สพฺเพปิเม พุทฺธคุเณ อาวชฺชิตฺวา นครํ ปวิสิตฺวา ติยามรตฺตึ ตีสุ ปาการนฺตเรสุ ปริตฺตํ กโรนฺโต วิจริ.

วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564

บาตรศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้า ตอนที่ ๓ บาตรสิลามีที่มาอย่างไร ?

 

บาตรศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้า

 

ตอนที่ ๓ บาตรสิลามีที่มาอย่างไร ?

 

บาตรสิลาพระพุทธเจ้า ที่มหาราชทั้ง ๔ นำมาถวาย สมัยกุษาณะ ศิลปะคันธาระ

ที่มาภาพ https://www.bmimages.com/preview.asp?image=01613684118&itemw=4&itemf=0001&itemstep=1&itemx=31

 

บาตรใบที่สอง บาตรสิลาสีดังถั่วเขียว

      หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ แล้วเสวยวิมุตติสุขในสถานที่ต่างๆ ครั้นไปประทับนั่งที่ต้นไม้ราชายตนะต้นเกต สันนิฐานว่า ทางด้านทิศใต้ของต้นโพธิ์ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา สมัยนั้น พาณิช ๒ คนชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ เดินทางจากอุกกลชนบท จะไปยังมัชฌิมประเทศ ด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม ผู้อันเทวดาผู้เป็นญาติสาโลหิตของตนในชาติก่อน กั้นเกวียนไว้ ให้มีความอุตสาหะในการจัดพระกระยาหารถวายแด่พระศาสดา จึงถือเอาข้าวตูก้อนและขนมน้ำผึ้ง (ขนมหวาน) แล้วกราบทูลให้ทรงรับ แล้วน้อมถวายพระศาสดาแล้วยืนอยู่ แต่เพราะบาตรดินที่ท้าวมหาพรหมถวายได้อันตรธานหายไปไม่ปรากฏตั้งแต่ในวันรับข้าวปายาส พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงดำริว่า พระตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับที่มือ เราจะรับที่อะไรหนอ

The offering bowls Buddha in gray schist relief Gandhara, Swat, I-III cent, 38x 27 cm

ที่มาภาพ https://www.pinterest.com/pin/389772542735695983/

 

 

ดังปรากฏในคัมภีร์ชาตกัฏฐกถา และคล้ายกันกับในอรรถกถาวิสุทธชนวิลาสินี    ขุททกนิกาย อปทานว่า

“ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์จากทิศทั้ง ๔ รู้พระดำริของพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงน้อมถวายบาตรทั้งหลายอันแล้วด้วยแก้วอินทนิลพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงรับบาตรเหล่านั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงน้อมถวายบาตร ๔ ใบ อันแล้วด้วยศิลามีสีดังถั่วเขียว เพื่อจะทรงอนุรักษ์ศรัทธาของท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงทรงรับบาตรแม้ทั้ง ๔ ใบ ทรงวางซ้อน ๆ กันแล้วทรงอธิษฐานว่า จงเป็นบาตรใบเดียว บาตรทั้ง ๔ ใบจึงมีรอย ปรากฏอยู่ที่ขอบปาก รวมเข้าเป็นใบเดียวกัน โดยประมาณบาตรขนาดกลาง (ปุน มุคฺควณฺณเสลมเย จตฺตาโร ปตฺเต อุปนาเมสุงฯ ภควา จตุนฺนํปิ เทวปุตฺตานํ อนุกมฺปาย จตฺตาโร ปตฺเตปิ ปฏิคฺคเหตฺวา อุปรุปริ ฐเปตฺวา เอโก โหตูติ อธิฏฺฐหิฯ จตฺตาโรปิ มุขวฏฺฏิยํ ปญฺญายมานา เลขา หุตฺวา มชฺฌิเมน ปมาเณน เอกตฺตํ อุปคมึสุฯ)

 พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับพระกระยาหารที่บาตรอันล้วนด้วยศิลามีค่ามากนั้น เสวยแล้วได้ทรงกระทำอนุโมทนา พาณิชพี่น้องสองคนนั้นถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะ ได้เป็น ทเววาจิกอุบาสก คืออุบาสกผู้กล่าวถึงสรณะสอง”

ที่มาภาพ https://www.pinterest.com/bibuart/the-offering-bowls-buddha-gandhara/

 

บาตรสิลาเขียวซ้อนกันเป็นใบเดียว

จากข้อความว่า “ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงน้อมถวายบาตร ๔ ใบ อันแล้วด้วยศิลามีสีดังถั่วเขียว เพื่อจะทรงอนุรักษ์ศรัทธาของท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงทรงรับบาตรแม้ทั้ง ๔ ใบ ทรงวางซ้อน ๆ กันแล้วทรงอธิษฐานว่า จงเป็นบาตรใบเดียว บาตรทั้ง ๔ ใบจึงมีรอย ปรากฏอยู่ที่ขอบปาก รวมเข้าเป็นใบเดียวกัน โดยประมาณบาตรขนาดกลาง”

พอจะสันนิฐานสรุปได้ว่า บาตรพระเจ้า ๑)เป็นบาตรสิลาเขียว ๒)มีรอยการซ้อนๆ ๔ ชั้นที่ขอบปากบาตร และ ๓) เป็นบาตรขนาดกลาง

ที่มาภาพ https://www.heritage-print.com/gautama-buddha-rajagriha-offering-dust-c2nd-14861636.html

 

บาตรพระพุทธเจ้า บาตรขนาดกลาง ขนาดไหน?

จากข้อความบาลีว่า มชฺฌิเมน ปมาเณน (โดยประมาณบาตรขนาดกลาง) ในสิกขาบทวิภังค์  ได้ระบุขนาดของบาตรไว้ สรุปได้ดังนี้

บาตรมี ๓ ขนาด คือ บาตรขนาดใหญ่  บาตรขนาดกลาง และบาตรขนาดเล็ก    ๑)บาตรขนาดใหญ่ จุข้าวสุกแห่งข้าวสารกึ่งอาฬหก[1](๒ทะนาน) ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔ กับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น ๒)บาตรขนาดกลาง จุข้าวสุกแห่งข้าวสาร ๑ นาฬี(ทะนาน/๒กอบมือ) ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔ กับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น  ๓)บาตรขนาดเล็ก จุข้าวสุกแห่งข้าวสาร ๑ ปัตถะ(กอบมือ) ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔ กับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น ส่วนบาตรที่ใหญ่กว่านั้นเป็นบาตรที่ใช้ไม่ได้ และเล็กกว่านั้นเป็นบาตรที่ใช้ไม่ได้

ในหนังสือ วินัยมุข เล่ม ๒ ท่านอธิบายเรื่องขนาดของบาตรไว้ว่า“ตามคำในเรื่องเมณฑกเศรษฐีในอรรถกถาธรรมบท ตอนมลวรรค ข้าวสารนาฬีหนึ่ง หุงเป็นข้าวสุก  แจกกัน ๕ คน ส่วนที่คนหนึ่งได้ พอกินอิ่ม แต่ไม่พอแก่ ๒ คน โดยนัยนี้ บาตรขนาดเล็ก จุข้าวสุก ๒ คนกินเหลือ กิน ๓ คนไม่พอ   บาตรขนาดกลาง จุข้าวสุกกินได้ ๕ คน บาตรขนาดใหญ่ จุข้าวสุกกินได้ ๑๐ คน.

ที่มาภาพ https://www.livehistoryindia.com/story/history-daily/decoding-the-kushanas/

 

และในหนังสือ วินัยวินิจฉัย แบบประกอบนักธรรมชั้นตรี ได้กล่าวว่า ขนาดของบาตร ๓ คือ :-

             ๑. อย่างเล็กใส่ข้าวเต็มบาตร ฉันได้องค์เดียว.

             ๒. อย่างกลางจุฉันได้ ๒ องค์ หรือใส่ผ้าสังฆาฏิได้.

             ๓. อย่างโตจุฉันได้ ๔ องค์.

จากข้อความที่ยกมาข้างต้นทั้งหมดและหลักฐานทางโบราณวัตถุ พอจะสันนิฐานได้ว่า ๑)ขนาดบาตรพระพุทธเจ้าเป็นบาตรขนาดกลางไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป สามารถใส่ข้าวสุกได้ ๑ ทะนาน ถ้าใส่ภัตตาหารเต็มบาตรจะฉันได้ ๒ องค์ หรือใส่ผ้าสังฆาฏิได้ ๒)เป็นบาตรศิลาสีเขียวแน่นอน(ว่าตามหลักฐานบาลี) และ๓)ไม่ใช่บาตรขนาดใหญ่โตหรือหนักมากเกินไป เหตุผลเพราะว่า พระอุปัฏฐากทั่วไป(ก่อนจะเป็นพระอานนท์ มีพระที่เป็นพุทธุปัฏฐากหลายรูป) สามารถถือไปได้พร้อมกันทั้งบาตรและจีวร หรือบางที่พระราชา เศรษฐีหรือคนทั่วไปก็สามารถถือได้ เช่นเจ้าชายนันทะเป็นต้นก็ถือบาตรมาตามส่งพระพุทธเจ้า สุดท้ายจึงได้บวชไป

เรื่องราวบาตรสิลาบริขารที่สำคัญของของพระพุทธเจ้าต่อนี้จากไปจะเป็นอย่างไร มีความน่าสนใจอะไรบ้างในเรื่องราวและสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงใช้บาตรสิลาใบนี้บำเพ็ญพุทธกิจโปรดสัตว์โลก หรือที่เป็นส่วนที่ให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เช่นใช้ระงับโรค หรือ มีอานุภาพอย่างไร และบาตรสิลาใบนี้จะไปอยู่ที่ไหนอย่างไรหลังพุทธปรินิพพาน ขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านโปรดติดตาม เพื่อช่วยกันวิเคราะห์และสืบค้นข้อมูลในตอนต่อๆ ไป

 

                                                                                โปรดติดตามตอนต่อไป

ตอนที่ ๔ บาตรพระพุทธเจ้าช่วยปัดเป่าอุปัทวะ

https://panyainpang09.blogspot.com/2021/07/blog-post.html



[1]         มาตราตวง

         ๕ มุฏฐิ [คือกำมือ] เป็น ๑ กุฑวะ [คือฟายมือ]

         ๒ กุฑวะ " ๑ ปัตถะ [คือกอบ]

         ๒ ปัตถะ " ๑ นาฬี [คือทะนาน]

         ๔ นาฬี " ๑ อาฬหก.

บาตรศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้าตอนที่ ๒ บาตรพุทธเจ้าบริขารในดอกบัวต้นกัป ?

 

บาตรศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้า

 

ตอนที่ ๒ บาตรพุทธเจ้าบริขารในดอกบัวต้นกัป ?

Gautama (พระพุทธเจ้า) เสด็จออกบวชจากพระราชวัง ศตวรรษที่ 2 – พบใน Loriyan Tangai ประเทศปากีสถาน (เดิมชื่อ Gandhara); หินดินดานดำ 48×54 ซม. พิพิธภัณฑ์อินเดีย กัลกัตตา

ที่มาภาพ https://www.pinterest.com/pin/515943701065019788/

 

เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์

ตามหลักฐานพุทธประวัติ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญวัย ได้รับการดูแลอย่างดีจากพระบิดาสุทโธทนะ จนบารมีและญาณแก่กล้า ได้เห็นเทวทูตและนักบวช มีใจน้อมไปในการออกจากกาม แสวงหาบรรพชานั้นในคัมภีร์อรรถกถามโนรถปูรณี อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต กล่าวไว้ถึงตอนนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงเจริญวัยแล้ว เสวยสมบัติเหมือนเทพเจ้า เมื่อพระญาณแก่กล้าแล้ว ทรงเห็นโทษในกาม เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม จึงในวันที่พระราหุลกุมารประสูติ มีนายฉันนะเป็นพระสหาย ทรงขึ้นม้ากัณฐกะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทางประตูที่เทวดาเปิดให้ เสด็จเลยไป ๓ ราชอาณาเขต โดยตอนกลางคืนนั้นนั่นเอง ทรงบรรพชาที่ฝั่งแม่น้ำอโนมานที พอทรงรับธงชัยแห่งพระอรหันต์ ที่ท้าวฆฏิการมหาพรหมนำมาถวายเท่านั้น เป็นเหมือนพระเถระ ๑๐๐ พรรษา”


ที่มาภาพ https://www.pinterest.com/pin/577516352213176433/

ที่มาของบาตรดินใบแรก

เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช ทรงตัดโมลีถือเพศบรรพชา ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมา ฆฏิการพรหมได้มาถวายอัฏฐบริขาร เมื่อทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวะอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิตแล้วเดินทางไปตามลำดับจนถึงกรุงราชคฤห์ ก็ทรงใช้บาตรดินใบนั้น ซึ่งถือเป็นภาชนะสำคัญในการภิกขาจารหรือเดินรับอาหารจากผู้ศรัทธาเพื่อดำรงชีพ เช่นเดียวกับภิกษุทั้งหลาย

แผนที่กรุงราชคฤห์ เส้นทางก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ที่มาภาพ http://bangkrod.blogspot.com/2014/01/blog-post_7.html

จากภาพสันนิฐานว่า พระองค์น่าจะได้เสด็จมาจากอโนมานทีแล้วทรงเดินทางผ่านสวนป่าเวฬุวันอันน่ารื่นรมย์ เข้าเมืองราชคฤห์ด้านทิศเหนือฝั่งประตูป่าสีตวัน จนชาวเมืองราชคฤห์แตกตื่นโจษจันกันในร่างกายอันผ่องใสและบุคลิกที่สงบสำรวมสง่างามน่าเลื่อมใสยิ่งของพระองค์ ในขณะที่เสด็จเที่ยวรับภิกขาจากชาวเมืองราชคฤห์

 


 บาตรพุทธเจ้าบริขารในดอกบัวต้นกัป ?

บาตรดินของพระพุทธเจ้านั้น มีสิ่งที่น่าสนใจมากคือ ที่มาของบาตรดินใบแรก ซึ่งเป็นหนึ่งในบริขาร ๘ ที่พรหมนำมาถวาย นับเป็นบริขารพิเศษอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ซึ่งเกิดในกลีบปทุมของดอกบัวที่บังเกิดขึ้นครั้งแรก ในเวลาที่กัปเกิดขึ้นและเกิดเป็นแผ่นดินยังตั้งอยู่ และดอกบัวนั้นยังเป็นนิมิตหมายว่าจะมีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นกี่พระองค์ในภัทรกัปนั้นๆ อีกด้วย

หลักฐานบริขารที่เกิดในกลีบปทุม มีในคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย อปทานได้กล่าวถึงพระโพธิสัตว์หลังจากเป็นพระเวสสันดรไว้ว่า “จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในภพดุสิต จุติจากภพดุสิตนั้นด้วยการอาราธนาของเหล่าเทวดา บังเกิดในสักยตระกูล  เพราะญาณแก่กล้าจึงละทิ้งราชสมบัติในสกลชมพูทวีปเสีย แล้วตัดกำพระเกศาให้มีปลายเสมอกัน ด้วยดาบที่ลับไว้อย่างดี ที่ฝั่งแม่น้ำอโนมานที รับบริขาร ๘ อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ซึ่งเกิดในกลีบปทุม ในเวลาที่กัปยังตั้งอยู่ซึ่งพระพรหมนำมาให้แล้วบรรพชา เพราะญาณทัสสนะคือพระโพธิญาณยังไม่แก่กล้าก่อน จึงไม่รู้จักทางและมิใช่ทางแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า”

หลักฐานบาลีอรรถกถา “อโนมานทีตีเร สุนิสิเตนาสินา สมกุฏเกสกลาปํ           ฉินฺทิตฺวา พฺรหฺมุนา อานีเต อิทฺธิมเย กปฺปสฺส สณฺฐานกาเล ปทุมคพฺเภ นิพฺพตฺเต อฏฺฐ- ปริกฺขาเร ปฏิคฺคเหตฺวา ปพฺพชิตฺวา”

แผนที่กรุงราชคฤห์ จุดสำคัญๆ ในสมัยพุทธกาล

            เมื่อข่าวนั้นได้ไปถึงพระเจ้าพิมพิสาร จึงเสด็จทันมาพบพระโพธิสัตว์ที่เงื้อมเขาบัณฑวะ ด้านทิศตะวันตกของกรุงราชคฤห์ ทรงเสวยพระกระยาหารที่เงื้อมเขาชื่อปัณฑวะ และประทานปฏิญญาแด่พระราชา เมื่อประทานปฏิญญา ๕ ประการแด่พระเจ้าพิมพิสาร หลังจากที่พระราชาจะขอถวายราชสมบัติ แต่พระโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธไม่ขอรับ เพราะพระองค์มีเป้าหมายเพื่อแสวงหาโมกขธรรมหาทางพ้นทุกข์จากสังสารวัฏนั้น

ที่มาภาพ https://www.pinterest.com/pin/428123508326167921/

 

ศึกษาธรรมจนมีความรู้เสมออาจารย์

หลังพระองค์ก็ได้ไปศึกษาจากอาจารย์อาฬารดาบสและอุทกดาบส ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอาศรมอยู่ในบริเวณภูเขากรุงราชคฤห์นั้นเอง จนสามารถบรรลุธรรมได้เหมือนอาจารย์ ถูกชักชวนให้บริหารหมู่คณะและแต่งตั้งให้เป็นศิษย์เสมอกับตนและบูชาด้วยการบูชาอย่างยิ่ง แต่พระองค์มีความคิดเห็นว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน ย่อมเป็นไปเพียงเพื่ออุบัติในอากิญจัญญายตนพรหมเท่านั้น พระองค์ไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้น จึงหลีกไปที่อุรุเวลาเสนานิคม


ที่มาภาพ https://www.dmc.tv/expo/show.php?id=19758

 

พระปัญจวัคคีย์ออกบวชตาม

หลังจากนั้นพระองค์ทดลองบำเพ็ญทุกกรกิริยาหาทางตรัสรู้ด้วยพระองค์เองถึงเกือบ ๖ ปี แต่ก็ไม่พบหนทางตรัสรู้ จึงได้กลับมาดำเนินทางสายกลางฉันภัตตาหารเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นใหม่ ทำให้พระปัญจวัคคีย์ซึ่งพระโกณฑัญญะเป็นหัวหน้าที่ได้ออกบวชตามเจ้าชายสิทธัตถะไม่เข้าใจคิดว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมาก จึงได้หนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน


ที่มาภาพ https://www.dmc.tv/expo/show.php?id=19758

 

บาตรดินได้อันตรธานหายไป

คืนก่อนวันวิสาขะพระองค์ทรงสุบินหลายอย่างและทรงทำนายด้วยพระองค์เองว่าจะตรัสรู้ และเมื่อถึงรุ่งเช้า จึงไปประทับนั่งที่ต้นนิโครธริมฝั่งแม่น้ำ กระทั่งนางทาสีมาพบสำคัญว่าเป็นเทวดา จึงได้ไปบอกนางสุชาดาให้นำข้าวมธุปายาสมาถวาย เนื่องจากบาตรดินได้อันตรธานหายไปแล้ว[1][2] ในขณะนั้นพระองค์จึงทรงรับถาดทองใส่ข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาในช่วงเช้าของวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ปรากฏหลักฐานคล้ายกันในคัมภีร์อรรถกถามธุรัตถวิลาสินี และวิสุทธชนวิลาสินี ขุททกนิกาย อปทาน ว่า เพราะบาตรได้อันตรธานหายไปในวันรับข้าวปายาส พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงดำริว่า พระตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับที่มือ เราจะรับที่อะไรหนอ (ภควา ปายาสปฏิคฺคหณทิวเสเยว ปตฺตสฺส อนฺตรหิตตฺตา "น โข ตถาคตา หตฺเถสุ ปฏิคฺคณฺหนฺติ, กิมฺหิ นุ โข อหํ ปฏิคฺคเณฺหยฺยนฺติ จินฺเตสิ.)


ที่มาภาพ https://www.dmc.tv/expo/show.php?id=19758

หลังจากนั้นได้สรงสนานพระวรกายที่ท่าน้ำสุปดิฏฐ์เสร็จก่อนแล้วจึงปั้นข้าวมธุปายาสเป็น ๔๙ ก้อนแล้วฉัน จากนั้นลอยถาดทองที่แม่น้ำเนรัญชราอธิฐานจิต ถ้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขอให้ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำ และถาดทองได้ลอยไปทวนกระแสน้ำ

ที่มาภาพ https://www.pinterest.com/pin/663506957580286566/

 ช่วงเวลาเย็น จึงได้เดินทางมาตามริมแม่น้ำเนรัญชรา พบต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา และได้นั่งสมาธิบนรัตนบัลลังก์ จนค้นพบทางสายกลางบรรลุญาณ ๓ ตามลำดับตั้งแต่ปฐมยามและตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมยามรุ่งอรุณขึ้นวันใหม่พอดี                                                                                 

 โปรดติดตามตอนต่อไป

ตอนที่ ๓ บาตรสิลามีที่มาอย่างไร ?https://panyainpang09.blogspot.com/2021/06/blog-post_30.html

ตอนที่ ๔ บาตรพระพุทธเจ้าช่วยปัดเป่าอุปัทวะ

https://panyainpang09.blogspot.com/2021/07/blog-post.html



[1] ภควา ปายาสปฏิคฺคหณทิวเสเยว ปตฺตสฺส อนฺตรหิตตฺตา "น โข ตถาคตา หตฺเถสุ ปฏิคฺคณฺหนฺติ, กิมฺหิ นุ โข อหํ ปฏิคฺคเณฺหยฺยนฺ"ติ จินฺเตสิ. เพราะบาตรได้อันตรธานหายไปในวันรับข้าวปายาส พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงดำริว่า พระตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับที่มือ เราจะรับที่อะไรหนอ.

[2] ภควา ปายาสปฏิคฺคหณทิวเสเยว เทวทตฺติยสฺส ปตฺตสฺส อนฺตรหิตตฺตา "น โข ตถาคตา หตฺเถสุ อาหารํ ปฏิคฺคณฺหนฺติ, กิมฺหิ นุ โข อหํ อิมํ

ปฏิคฺคเณฺหยฺยนฺ"ติ จินฺเตสิ.เพราะเหตุที่บาตรที่เทวดาถวาย ครั้งทรงรับข้าวมธุปายาส อันตรธานไป พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า

พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมไม่รับอาหารด้วยมือเปล่า เราจะพึงรับอาหารนี้ได้อย่างไรหนอ.