บาตรศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้า
ตอนที่
๒ บาตรพุทธเจ้าบริขารในดอกบัวต้นกัป ?
Gautama (พระพุทธเจ้า) เสด็จออกบวชจากพระราชวัง ศตวรรษที่ 2 – พบใน Loriyan Tangai ประเทศปากีสถาน (เดิมชื่อ Gandhara); หินดินดานดำ 48×54 ซม. พิพิธภัณฑ์อินเดีย กัลกัตตา
ที่มาภาพ
https://www.pinterest.com/pin/515943701065019788/
เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
ตามหลักฐานพุทธประวัติ
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเจริญวัย ได้รับการดูแลอย่างดีจากพระบิดาสุทโธทนะ
จนบารมีและญาณแก่กล้า ได้เห็นเทวทูตและนักบวช มีใจน้อมไปในการออกจากกาม
แสวงหาบรรพชานั้นในคัมภีร์อรรถกถามโนรถปูรณี อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต
กล่าวไว้ถึงตอนนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทรงเจริญวัยแล้ว
เสวยสมบัติเหมือนเทพเจ้า เมื่อพระญาณแก่กล้าแล้ว ทรงเห็นโทษในกาม
เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม จึงในวันที่พระราหุลกุมารประสูติ
มีนายฉันนะเป็นพระสหาย ทรงขึ้นม้ากัณฐกะเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์
ทางประตูที่เทวดาเปิดให้ เสด็จเลยไป ๓ ราชอาณาเขต โดยตอนกลางคืนนั้นนั่นเอง
ทรงบรรพชาที่ฝั่งแม่น้ำอโนมานที พอทรงรับธงชัยแห่งพระอรหันต์
ที่ท้าวฆฏิการมหาพรหมนำมาถวายเท่านั้น เป็นเหมือนพระเถระ ๑๐๐ พรรษา”
ที่มาภาพ https://www.pinterest.com/pin/577516352213176433/
ที่มาของบาตรดินใบแรก
เมื่อครั้งเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช
ทรงตัดโมลีถือเพศบรรพชา ณ ฝั่งแม่น้ำอโนมา ฆฏิการพรหมได้มาถวายอัฏฐบริขาร เมื่อทรงนุ่งห่มผ้ากาสาวะอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิตแล้วเดินทางไปตามลำดับจนถึงกรุงราชคฤห์
ก็ทรงใช้บาตรดินใบนั้น ซึ่งถือเป็นภาชนะสำคัญในการภิกขาจารหรือเดินรับอาหารจากผู้ศรัทธาเพื่อดำรงชีพ
เช่นเดียวกับภิกษุทั้งหลาย
ที่มาภาพ
http://bangkrod.blogspot.com/2014/01/blog-post_7.html
จากภาพสันนิฐานว่า
พระองค์น่าจะได้เสด็จมาจากอโนมานทีแล้วทรงเดินทางผ่านสวนป่าเวฬุวันอันน่ารื่นรมย์ เข้าเมืองราชคฤห์ด้านทิศเหนือฝั่งประตูป่าสีตวัน
จนชาวเมืองราชคฤห์แตกตื่นโจษจันกันในร่างกายอันผ่องใสและบุคลิกที่สงบสำรวมสง่างามน่าเลื่อมใสยิ่งของพระองค์
ในขณะที่เสด็จเที่ยวรับภิกขาจากชาวเมืองราชคฤห์
บาตรดินของพระพุทธเจ้านั้น
มีสิ่งที่น่าสนใจมากคือ ที่มาของบาตรดินใบแรก ซึ่งเป็นหนึ่งในบริขาร ๘ ที่พรหมนำมาถวาย
นับเป็นบริขารพิเศษอันสำเร็จด้วยฤทธิ์ซึ่งเกิดในกลีบปทุมของดอกบัวที่บังเกิดขึ้นครั้งแรก
ในเวลาที่กัปเกิดขึ้นและเกิดเป็นแผ่นดินยังตั้งอยู่ และดอกบัวนั้นยังเป็นนิมิตหมายว่าจะมีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นกี่พระองค์ในภัทรกัปนั้นๆ
อีกด้วย
หลักฐานบริขารที่เกิดในกลีบปทุม
มีในคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย อปทานได้กล่าวถึงพระโพธิสัตว์หลังจากเป็นพระเวสสันดรไว้ว่า
“จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในภพดุสิต จุติจากภพดุสิตนั้นด้วยการอาราธนาของเหล่าเทวดา
บังเกิดในสักยตระกูล เพราะญาณแก่กล้าจึงละทิ้งราชสมบัติในสกลชมพูทวีปเสีย
แล้วตัดกำพระเกศาให้มีปลายเสมอกัน ด้วยดาบที่ลับไว้อย่างดี
ที่ฝั่งแม่น้ำอโนมานที รับบริขาร ๘ อันสำเร็จด้วยฤทธิ์ซึ่งเกิดในกลีบปทุม
ในเวลาที่กัปยังตั้งอยู่ซึ่งพระพรหมนำมาให้แล้วบรรพชา
เพราะญาณทัสสนะคือพระโพธิญาณยังไม่แก่กล้าก่อน
จึงไม่รู้จักทางและมิใช่ทางแห่งความเป็นพระพุทธเจ้า”
หลักฐานบาลีอรรถกถา
“อโนมานทีตีเร สุนิสิเตนาสินา สมกุฏเกสกลาปํ ฉินฺทิตฺวา พฺรหฺมุนา อานีเต อิทฺธิมเย
กปฺปสฺส สณฺฐานกาเล ปทุมคพฺเภ นิพฺพตฺเต อฏฺฐ- ปริกฺขาเร ปฏิคฺคเหตฺวา
ปพฺพชิตฺวา”
เมื่อข่าวนั้นได้ไปถึงพระเจ้าพิมพิสาร
จึงเสด็จทันมาพบพระโพธิสัตว์ที่เงื้อมเขาบัณฑวะ ด้านทิศตะวันตกของกรุงราชคฤห์ ทรงเสวยพระกระยาหารที่เงื้อมเขาชื่อปัณฑวะ
และประทานปฏิญญาแด่พระราชา เมื่อประทานปฏิญญา ๕ ประการแด่พระเจ้าพิมพิสาร หลังจากที่พระราชาจะขอถวายราชสมบัติ
แต่พระโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธไม่ขอรับ เพราะพระองค์มีเป้าหมายเพื่อแสวงหาโมกขธรรมหาทางพ้นทุกข์จากสังสารวัฏนั้น
ที่มาภาพ
https://www.pinterest.com/pin/428123508326167921/
ศึกษาธรรมจนมีความรู้เสมออาจารย์
หลังพระองค์ก็ได้ไปศึกษาจากอาจารย์อาฬารดาบสและอุทกดาบส
ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอาศรมอยู่ในบริเวณภูเขากรุงราชคฤห์นั้นเอง จนสามารถบรรลุธรรมได้เหมือนอาจารย์
ถูกชักชวนให้บริหารหมู่คณะและแต่งตั้งให้เป็นศิษย์เสมอกับตนและบูชาด้วยการบูชาอย่างยิ่ง
แต่พระองค์มีความคิดเห็นว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน
ย่อมเป็นไปเพียงเพื่ออุบัติในอากิญจัญญายตนพรหมเท่านั้น พระองค์ไม่พอใจธรรมนั้น
เบื่อจากธรรมนั้น จึงหลีกไปที่อุรุเวลาเสนานิคม
ที่มาภาพ https://www.dmc.tv/expo/show.php?id=19758
พระปัญจวัคคีย์ออกบวชตาม
หลังจากนั้นพระองค์ทดลองบำเพ็ญทุกกรกิริยาหาทางตรัสรู้ด้วยพระองค์เองถึงเกือบ
๖ ปี แต่ก็ไม่พบหนทางตรัสรู้
จึงได้กลับมาดำเนินทางสายกลางฉันภัตตาหารเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงขึ้นใหม่
ทำให้พระปัญจวัคคีย์ซึ่งพระโกณฑัญญะเป็นหัวหน้าที่ได้ออกบวชตามเจ้าชายสิทธัตถะไม่เข้าใจคิดว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมาก
จึงได้หนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน
ที่มาภาพ https://www.dmc.tv/expo/show.php?id=19758
บาตรดินได้อันตรธานหายไป
คืนก่อนวันวิสาขะพระองค์ทรงสุบินหลายอย่างและทรงทำนายด้วยพระองค์เองว่าจะตรัสรู้
และเมื่อถึงรุ่งเช้า จึงไปประทับนั่งที่ต้นนิโครธริมฝั่งแม่น้ำ
กระทั่งนางทาสีมาพบสำคัญว่าเป็นเทวดา จึงได้ไปบอกนางสุชาดาให้นำข้าวมธุปายาสมาถวาย
เนื่องจากบาตรดินได้อันตรธานหายไปแล้ว[1][2] ในขณะนั้นพระองค์จึงทรงรับถาดทองใส่ข้าวมธุปายาสของนางสุชาดาในช่วงเช้าของวันเพ็ญเดือนวิสาขะ
ปรากฏหลักฐานคล้ายกันในคัมภีร์อรรถกถามธุรัตถวิลาสินี และวิสุทธชนวิลาสินี
ขุททกนิกาย อปทาน ว่า เพราะบาตรได้อันตรธานหายไปในวันรับข้าวปายาส
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงดำริว่า พระตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับที่มือ
เราจะรับที่อะไรหนอ (ภควา ปายาสปฏิคฺคหณทิวเสเยว ปตฺตสฺส อนฺตรหิตตฺตา
"น โข ตถาคตา หตฺเถสุ ปฏิคฺคณฺหนฺติ, กิมฺหิ นุ โข อหํ
ปฏิคฺคเณฺหยฺยนฺติ จินฺเตสิ.)
ที่มาภาพ https://www.dmc.tv/expo/show.php?id=19758
หลังจากนั้นได้สรงสนานพระวรกายที่ท่าน้ำสุปดิฏฐ์เสร็จก่อนแล้วจึงปั้นข้าวมธุปายาสเป็น
๔๙ ก้อนแล้วฉัน จากนั้นลอยถาดทองที่แม่น้ำเนรัญชราอธิฐานจิต ถ้าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าขอให้ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำ
และถาดทองได้ลอยไปทวนกระแสน้ำ
ที่มาภาพ
https://www.pinterest.com/pin/663506957580286566/
โปรดติดตามตอนต่อไป
ตอนที่ ๓ บาตรสิลามีที่มาอย่างไร ?https://panyainpang09.blogspot.com/2021/06/blog-post_30.html
ตอนที่ ๔ บาตรพระพุทธเจ้าช่วยปัดเป่าอุปัทวะ
https://panyainpang09.blogspot.com/2021/07/blog-post.html
[1]
ภควา
ปายาสปฏิคฺคหณทิวเสเยว ปตฺตสฺส อนฺตรหิตตฺตา "น โข ตถาคตา หตฺเถสุ ปฏิคฺคณฺหนฺติ, กิมฺหิ นุ โข อหํ ปฏิคฺคเณฺหยฺยนฺ"ติ จินฺเตสิ. เพราะบาตรได้อันตรธานหายไปในวันรับข้าวปายาส
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงดำริว่า พระตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับที่มือ เราจะรับที่อะไรหนอ.
[2]
ภควา
ปายาสปฏิคฺคหณทิวเสเยว เทวทตฺติยสฺส ปตฺตสฺส อนฺตรหิตตฺตา "น โข ตถาคตา หตฺเถสุ อาหารํ
ปฏิคฺคณฺหนฺติ, กิมฺหิ นุ โข อหํ อิมํ
ปฏิคฺคเณฺหยฺยนฺ"ติ จินฺเตสิ.เพราะเหตุที่บาตรที่เทวดาถวาย ครั้งทรงรับข้าวมธุปายาส อันตรธานไป
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระดำริว่า
พระตถาคตทั้งหลาย ย่อมไม่รับอาหารด้วยมือเปล่า
เราจะพึงรับอาหารนี้ได้อย่างไรหนอ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น