บาตรศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้า
ตอนที่
๓ บาตรสิลามีที่มาอย่างไร ?
บาตรสิลาพระพุทธเจ้า
ที่มหาราชทั้ง ๔ นำมาถวาย สมัยกุษาณะ ศิลปะคันธาระ
ที่มาภาพ
https://www.bmimages.com/preview.asp?image=01613684118&itemw=4&itemf=0001&itemstep=1&itemx=31
บาตรใบที่สอง
บาตรสิลาสีดังถั่วเขียว
หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ
แล้วเสวยวิมุตติสุขในสถานที่ต่างๆ ครั้นไปประทับนั่งที่ต้นไม้ราชายตนะต้นเกต
สันนิฐานว่า ทางด้านทิศใต้ของต้นโพธิ์ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา สมัยนั้น พาณิช ๒
คนชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ เดินทางจากอุกกลชนบท จะไปยังมัชฌิมประเทศ ด้วยเกวียน ๕๐๐
เล่ม ผู้อันเทวดาผู้เป็นญาติสาโลหิตของตนในชาติก่อน กั้นเกวียนไว้
ให้มีความอุตสาหะในการจัดพระกระยาหารถวายแด่พระศาสดา
จึงถือเอาข้าวตูก้อนและขนมน้ำผึ้ง (ขนมหวาน) แล้วกราบทูลให้ทรงรับ แล้วน้อมถวายพระศาสดาแล้วยืนอยู่
แต่เพราะบาตรดินที่ท้าวมหาพรหมถวายได้อันตรธานหายไปไม่ปรากฏตั้งแต่ในวันรับข้าวปายาส
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงดำริว่า พระตถาคตเจ้าทั้งหลายย่อมไม่รับที่มือ
เราจะรับที่อะไรหนอ
The offering bowls Buddha in gray schist relief Gandhara,
Swat, I-III cent, 38x 27 cm
ที่มาภาพ https://www.pinterest.com/pin/389772542735695983/
ดังปรากฏในคัมภีร์ชาตกัฏฐกถา
และคล้ายกันกับในอรรถกถาวิสุทธชนวิลาสินี ขุททกนิกาย อปทานว่า
“ลำดับนั้น
ท้าวมหาราชทั้ง ๔ องค์จากทิศทั้ง ๔ รู้พระดำริของพระผู้มีพระภาคเจ้า
จึงน้อมถวายบาตรทั้งหลายอันแล้วด้วยแก้วอินทนิลพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงรับบาตรเหล่านั้น
ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงน้อมถวายบาตร ๔ ใบ อันแล้วด้วยศิลามีสีดังถั่วเขียว
เพื่อจะทรงอนุรักษ์ศรัทธาของท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงทรงรับบาตรแม้ทั้ง ๔ ใบ ทรงวางซ้อน
ๆ กันแล้วทรงอธิษฐานว่า จงเป็นบาตรใบเดียว บาตรทั้ง ๔ ใบจึงมีรอย
ปรากฏอยู่ที่ขอบปาก รวมเข้าเป็นใบเดียวกัน โดยประมาณบาตรขนาดกลาง (ปุน มุคฺควณฺณเสลมเย จตฺตาโร ปตฺเต
อุปนาเมสุงฯ ภควา จตุนฺนํปิ เทวปุตฺตานํ อนุกมฺปาย จตฺตาโร ปตฺเตปิ ปฏิคฺคเหตฺวา อุปรุปริ
ฐเปตฺวา เอโก โหตูติ อธิฏฺฐหิฯ จตฺตาโรปิ มุขวฏฺฏิยํ ปญฺญายมานา เลขา หุตฺวา มชฺฌิเมน ปมาเณน เอกตฺตํ อุปคมึสุฯ)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับพระกระยาหารที่บาตรอันล้วนด้วยศิลามีค่ามากนั้น
เสวยแล้วได้ทรงกระทำอนุโมทนา
พาณิชพี่น้องสองคนนั้นถึงพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะ ได้เป็น ทเววาจิกอุบาสก คืออุบาสกผู้กล่าวถึงสรณะสอง”
ที่มาภาพ https://www.pinterest.com/bibuart/the-offering-bowls-buddha-gandhara/
บาตรสิลาเขียวซ้อนกันเป็นใบเดียว
จากข้อความว่า
“ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงน้อมถวายบาตร ๔ ใบ อันแล้วด้วยศิลามีสีดังถั่วเขียว
เพื่อจะทรงอนุรักษ์ศรัทธาของท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงทรงรับบาตรแม้ทั้ง ๔ ใบ
ทรงวางซ้อน ๆ กันแล้วทรงอธิษฐานว่า จงเป็นบาตรใบเดียว บาตรทั้ง ๔ ใบจึงมีรอย
ปรากฏอยู่ที่ขอบปาก รวมเข้าเป็นใบเดียวกัน โดยประมาณบาตรขนาดกลาง”
พอจะสันนิฐานสรุปได้ว่า
บาตรพระเจ้า ๑)เป็นบาตรสิลาเขียว ๒)มีรอยการซ้อนๆ ๔ ชั้นที่ขอบปากบาตร และ ๓) เป็นบาตรขนาดกลาง
ที่มาภาพ
https://www.heritage-print.com/gautama-buddha-rajagriha-offering-dust-c2nd-14861636.html
บาตรพระพุทธเจ้า
บาตรขนาดกลาง ขนาดไหน?
จากข้อความบาลีว่า
มชฺฌิเมน ปมาเณน (โดยประมาณบาตรขนาดกลาง) ในสิกขาบทวิภังค์ ได้ระบุขนาดของบาตรไว้ สรุปได้ดังนี้
บาตรมี
๓ ขนาด คือ บาตรขนาดใหญ่ บาตรขนาดกลาง
และบาตรขนาดเล็ก ๑)บาตรขนาดใหญ่
จุข้าวสุกแห่งข้าวสารกึ่งอาฬหก[1](๒ทะนาน)
ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔ กับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น ๒)บาตรขนาดกลาง
จุข้าวสุกแห่งข้าวสาร ๑ นาฬี(ทะนาน/๒กอบมือ) ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔
กับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น ๓)บาตรขนาดเล็ก
จุข้าวสุกแห่งข้าวสาร ๑ ปัตถะ(กอบมือ) ของเคี้ยวเท่าส่วนที่ ๔
กับข้าวพอสมควรแก่ข้าวสุกนั้น ส่วนบาตรที่ใหญ่กว่านั้นเป็นบาตรที่ใช้ไม่ได้ และเล็กกว่านั้นเป็นบาตรที่ใช้ไม่ได้
ในหนังสือ
วินัยมุข เล่ม ๒ ท่านอธิบายเรื่องขนาดของบาตรไว้ว่า“ตามคำในเรื่องเมณฑกเศรษฐีในอรรถกถาธรรมบท
ตอนมลวรรค ข้าวสารนาฬีหนึ่ง หุงเป็นข้าวสุก
แจกกัน ๕ คน ส่วนที่คนหนึ่งได้ พอกินอิ่ม แต่ไม่พอแก่ ๒ คน โดยนัยนี้ บาตรขนาดเล็ก
จุข้าวสุก ๒ คนกินเหลือ กิน ๓ คนไม่พอ บาตรขนาดกลาง
จุข้าวสุกกินได้ ๕ คน บาตรขนาดใหญ่ จุข้าวสุกกินได้ ๑๐ คน.
ที่มาภาพ
https://www.livehistoryindia.com/story/history-daily/decoding-the-kushanas/
และในหนังสือ
วินัยวินิจฉัย แบบประกอบนักธรรมชั้นตรี ได้กล่าวว่า ขนาดของบาตร ๓ คือ :-
๑.
อย่างเล็กใส่ข้าวเต็มบาตร ฉันได้องค์เดียว.
๒. อย่างกลางจุฉันได้
๒ องค์ หรือใส่ผ้าสังฆาฏิได้.
๓. อย่างโตจุฉันได้ ๔ องค์.
จากข้อความที่ยกมาข้างต้นทั้งหมดและหลักฐานทางโบราณวัตถุ
พอจะสันนิฐานได้ว่า ๑)ขนาดบาตรพระพุทธเจ้าเป็นบาตรขนาดกลางไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป
สามารถใส่ข้าวสุกได้ ๑ ทะนาน ถ้าใส่ภัตตาหารเต็มบาตรจะฉันได้ ๒ องค์
หรือใส่ผ้าสังฆาฏิได้ ๒)เป็นบาตรศิลาสีเขียวแน่นอน(ว่าตามหลักฐานบาลี) และ๓)ไม่ใช่บาตรขนาดใหญ่โตหรือหนักมากเกินไป
เหตุผลเพราะว่า พระอุปัฏฐากทั่วไป(ก่อนจะเป็นพระอานนท์
มีพระที่เป็นพุทธุปัฏฐากหลายรูป) สามารถถือไปได้พร้อมกันทั้งบาตรและจีวร
หรือบางที่พระราชา เศรษฐีหรือคนทั่วไปก็สามารถถือได้ เช่นเจ้าชายนันทะเป็นต้นก็ถือบาตรมาตามส่งพระพุทธเจ้า
สุดท้ายจึงได้บวชไป
เรื่องราวบาตรสิลาบริขารที่สำคัญของของพระพุทธเจ้าต่อนี้จากไปจะเป็นอย่างไร
มีความน่าสนใจอะไรบ้างในเรื่องราวและสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงใช้บาตรสิลาใบนี้บำเพ็ญพุทธกิจโปรดสัตว์โลก
หรือที่เป็นส่วนที่ให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เช่นใช้ระงับโรค หรือ มีอานุภาพอย่างไร
และบาตรสิลาใบนี้จะไปอยู่ที่ไหนอย่างไรหลังพุทธปรินิพพาน ขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านโปรดติดตาม
เพื่อช่วยกันวิเคราะห์และสืบค้นข้อมูลในตอนต่อๆ ไป
โปรดติดตามตอนต่อไป
ตอนที่ ๔ บาตรพระพุทธเจ้าช่วยปัดเป่าอุปัทวะ
https://panyainpang09.blogspot.com/2021/07/blog-post.html
[1] มาตราตวง
๕ มุฏฐิ [คือกำมือ] เป็น ๑ กุฑวะ [คือฟายมือ]
๒ กุฑวะ " ๑ ปัตถะ [คือกอบ]
๒ ปัตถะ " ๑ นาฬี [คือทะนาน]
๔ นาฬี " ๑
อาฬหก.