บาตรศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธเจ้า
ตอนที่
๑ บาตรดินที่มาและบาตรศิลาที่(หาย)ไป
บาตรเป็นบริขารที่สำคัญ
บาตรเป็นบริขารดั้งเดิมคู่กับไตรจีวรสำหรับผู้ที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุจำจะต้องมีไว้ก่อน
เพราะการอุปสมบทแบบญัตติจตุตถกรรมวาจา
เมื่อไม่มีบาตรและจีวรพระอุปัชฌาย์ก็จะไม่ให้บวช บาตรนั้นพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้
๒ ชนิด คือ บาตรดินเผา [ สุมดำสนิท ] ๑ บาตรเหล็ก ๑ ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย
ไม่หรูหรา และปลอดภัย
Gandhara Relief of
Buddha Eating with Monks
ที่มาภาพ https://www.worldhistory.org/image/4039/gandhara-relief-of-buddha-eating-with-monks/
ทรงห้ามไม่ให้ใช้ของอื่นแทนบาตร
เช่นกะทะดิน กะโหลก น้ำเต้า กะโหลกหัวผี รวมถึงบาตรชนิดอื่นก็ห้ามไม่ให้ใช้
ระบุชื่อไว้ในบาลี ๑๑ อย่าง คือ บาตรทอง บาตรเงิน บาตรแก้วมณี บาตรแก้วไพฑูรย์
บาตรแก้วผลึก บาตรแก้วหุง บาตรทองแดง บาตรทองเหลือง บาตรดีบุก บาตรสังกะสี บาตรไม้
บาตรของพระพุทธเจ้า
แม้พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงใช้บาตรซึ่งถือเป็นภาชนะสำคัญในการภิกขาจารหรือเดินรับอาหารจากผู้ศรัทธาเพื่อดำรงชีพ
เช่นเดียวกับภิกษุทั้งหลาย ในพุทธประวัติและพระสูตรต่างๆ กล่าวถึงเหตุการณ์กล่าวว่า
การมีบาตรของพระบรมศาสดาไว้ ๒ ครั้ง คือ
Prince Siddhartha shaves his hair and
becomes a sramana. Borobudur, 8th century
ที่มาภาพ https://en.wikipedia.org/wiki/Gautama_Buddha#/media/File:Siddharta_Gautama_Borobudur.jpg
ครั้งแรกเมื่อเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวช
ทรงตัดโมลีถือเพศบรรพชา ณ ฝั่งน้ำอโนมา ฆฏิการพรหมอดีตสหายเก่าในชาติก่อนได้มาถวายอัฏฐบริขาร
ซึ่งถือว่าเครื่องใช้สอยของนักบวชและพระภิกษุ มี ๘ อย่าง คือ บาตร และบริขารอื่นอีก
๗ คือ จีวร สังฆาฏิ สบง มีดโกน หรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ ทรงใช้บาตรนั้นซึ่งถือเป็นภาชนะสำคัญในการภิกขาจารหรือเดินรับอาหารจากผู้ศรัทธาเพื่อดำรงชีพอยู่ถึง
๖ ปีในช่วงก่อนที่จะตรัสรู้
และบาตรใบนั้น
ได้มีหลักฐานระบุว่าเป็น บาตรดิน มีข้อความปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาปรมัตถโชติกา
ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ว่า “ท่านอธิบายไว้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า
ทรงนุ่งผ้ากาสาวะผืนหนึ่ง ทรงห่มผืนหนึ่ง ทรงกระทำจีวรขันธ์ คล้องบาตรดินที่พระอังสา
ทรงอธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต” (เอกํ กาสาวํ
นิวาเสตฺวา เอกํ อุตฺตราสงฺคํ กริตฺวา เอกํ จีวรํ ขนฺเธ กริตฺวา มตฺติกาปตฺตํ
อํเส อาลคฺเคตฺวา ปพฺพชิตเวสํ อธิฎฺฐาสีติ วุตฺตํ โหติฯ)
Offering of the Four Bowls Gandhara Archives Kurita
ที่มาภาพ
https://www.pinterest.com/pin/389772542735704899/
ครั้งที่
๒ หลังจากที่พระองค์ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ
แล้วเสวยวิมุตติสุขในสถานที่ต่างๆ ครั้นที่ต้นไม้ราชายตนะ ทรงใช้บาตรศิลาซึ่งถวายโดยท้าวจตุโลกบาล
๔ ใบ แล้วทรงอธิฐานให้ซ้อนรวมเป็นใบเดียวกัน เพื่อรับสัตตุก้อนสัตตุผงจากอุบาสก ๒
พี่น้องพ่อค้า คือ ตปุสสะและภัลลิกะ หลังจากนั้นมาพระพุทธเจ้าก็ทรงใช้บาตรนั้นรับภัตตาหารมาตลอดพระชนม์ชีพ
ยังไม่ปรากฏพบหลักฐานว่า มีบาตรใบอื่นอีกเลยตลอดพระชนมายุของพระองค์จนกระทั้งเสด็จดับขันธปรินิพพาน
Gandharan Schist Lintel
Depicting the Division of the Buddha's Relics
ที่มาภาพ
https://www.pinterest.com/pin/124271270951567224/
หลักฐานที่มี
ระบุที่อยู่ตรงไหน?
ในคัมภีร์พุทธวงศ์
ขุททุกนิกาย ธาตุภาชนียกถา ว่าด้วยการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ระบุไว้ว่ามีการแบ่งพระบรมสารีกธาตุ
พระเขี้ยวแก้ว พระทันตธาตุ พระเกศาพระโลมา และพระบริขารอื่นๆ ไปสร้างพระสถูปตามที่ต่างๆ
ทั้งในจักรวาลอื่นๆ เทวโลกและโลกมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์และเทวาทั้งหลายได้ทำการบูชา
เกิดเป็นพุทธานุสติและก่อเกิดกุศลผลบุญมากมาย และในส่วนของบาตรจีวรและไม้เท้าของพระผู้มีพระภาคเจ้า
ระบุว่าอยู่ที่วชิรานคร (วชิรายํ ภควโต ปตฺโต ทณฺโฑ จ จีวรํ) ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วในคัมภีร์พระไตรปิฏกและอรรถกถาก็ไม่ได้ระบุลงไปอย่างชัดเจนว่า
เมืองวชิรา นี้อยู่ที่ตรงในแคว้นใดในครั้งพุทธกาล
พระอานนท์ผู้ถือบาตรและจีวรพุทธเจ้า
แต่ถ้าวิเคราะห์ตามหลักฐานในคัมภีร์อื่นๆ
แล้ว จะพบหลักฐานรายละเอียดเพิ่มเติมว่า หลังการปรินิพพาน เมื่อถวายพระเพลิงพุทธสรีระแล้ว
โทณพราหมณ์ได้ทำหน้าที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุและเถ้ากระดูกจากพระพุทธสรีระ เพื่อนำไปสร้างสถูปรำลึกในหลายแคว้นนั้น
ซึ่งเรียกกันว่า "ธาตุเจดีย์" ส่วนบริขารเครื่องใช้ของบรรพชิตที่ทรงใช้ระหว่างทรงพระชนม์ชีพนั้นถูกเรียกว่า
"บริโภคเจดีย์" และหนึ่งในบริขารสำคัญที่เหลืออยู่คู่กับจีวรก็คือ บาตรพระพุทธเจ้า
ที่มาภาพ
https://www.nationthailand.com/perspective/30331957
ต่อมาปรากฏหลักฐานทางคัมภีร์สมันตปาสาทิกา
สุมังคลวิลาสินี และสารัตถปกาสินีเป็นต้นว่า
พระอานนท์ได้นำบาตรและจีวรของพระพุทธเจ้าติดตัวเดินทางไปปลอบโยนพุทธบริษัทในที่ต่างๆ
เช่นเมืองสาวัตถีเป็นต้น ที่เศร้าโศกเพราะไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าอีกแล้ว แล้วจึงเข้าไปยังพระเชตวันวิหาร
เปิดพระทวารแห่งพระคันธกุฎีที่พระทศพลประทับแล้วนำเตียงตั่งออกเคาะปัดกวาดพระคันธกุฎี
ทิ้งขยะคือดอกไม้แห้ง นำเตียงตั่งเข้าไปตั้งไว้ตามเดิมอีก
ได้กระทำวัตรปฏิบัติทุกอย่างที่ควรทำ เหมือนในครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่
และเพื่อบูรณะซ่อมแซ่มพระวิหารต่างๆ
ที่ชำรุดทรุดโทรม หลังจากที่คณะสงฆ์ประกาศจะทำสังคายนา ท่านพระอานนท์ จึงได้หลีกไปอยู่ที่ราวป่าบำเพ็ญเพียรจนบรรลุธรรมเป็นพระอรหัตเพื่อจะได้มีสิทธิ์เข้าร่วมสังคายนาครั้งแรกที่ถ้ำสัตตบรรณคูหาที่เมืองราชคฤห์พร้อมพระอรหันต์
๕๐๐ รูปหลังพุทธปรินิพพานมาได้ ๓ เดือน
ที่มาภาพ
https://www.pinterest.com/pin/389772542735713113/
บาตรพุทธเจ้าหายไปไหน
?
เมื่อคราวที่พระอานนท์อายุได้ ๑๒๐ ปี คือราว ๔๐ ปีหลังพุทธปรินิพพานเพราะตามประวัติแล้วพระอานนท์เป็นหนึ่งในสหชาติคือผู้ที่เกิดพร้องกับเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านพระอานนท์ได้เดินทางกลับมาปรินิพพานด้วยเตโชธาตุ บนอากาศเหนือแม่น้ำโรหินี เพื่อจะไม่ให้หมู่พระญาติทะเลาะในการแบ่งพระธาตุ จึงอธิฐานให้พระธาตุแบ่งตกไปเป็น ๒ ฝั่งแม่น้ำให้หมู่พระญาติได้นำไปสร้างสถูปไว้บูชา หลังจากพระอานนท์ปรินิพพานแล้วนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีการกล่าวถึงบาตรของพระพุทธเจ้าอีกเลย
โปรดติดตามตอนต่อไป
ตอนที่ ๒ บาตรพุทธเจ้าบริขารในดอกบัวต้นกัป ?
https://panyainpang09.blogspot.com/2021/06/blog-post.html
ตอนที่ ๓ บาตรสิลามีที่มาอย่างไร ?
https://panyainpang09.blogspot.com/2021/06/blog-post_30.html
ตอนที่ ๔ บาตรพระพุทธเจ้าช่วยปัดเป่าอุปัทวะ
https://panyainpang09.blogspot.com/2021/07/blog-post.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น