วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

#‎ดีเอสไอ‬ :หมายจับกับความชอบธรรม "พระธัมมชโย"


#‎ดีเอสไอ‬ :หมายจับกับความชอบธรรม "พระธัมมชโย"
       
       การวิพากษ์นี้ มุ่งประเด็นกรณีพระเทพญาณมหามุนี(พระธัมมชโย แห่งวัดพระธรรมกาย) ข้อเขียนนี้เป็นการตั้งข้อสังเกตจากกรณีที่ศาลอาญา ได้ออกหมายจับ ตามคำร้องของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ไปโดยมีการไต่สวนคำร้องที่เปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายเจ้าหน้ารัฐและฝ่ายของตัวแทนผู้ต้องหา คือ พระธัมมชโย ในความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินและรับของโจร ซึ่งการสอบสวนคดีนี้ยังไม่เสร็จสิ้น แม้ในส่วนคดีนี้ที่ทางฝ่ายผู้ต้องหามีข้อโต้แย้งหลายประการ ตามที่ทราบกันทั่วไปในการแถลงข่าวและขอความเป็นธรรมไปบ้างแล้วนั้น จึงไม่ขอลงรายละเอียดเนื้อหาในคดี เพราะอาจจะกระทบต่อรูปคดี ซึ่งผู้เขียนไม่มีความเกี่ยวข้อง แต่ในฐานะนักกฎหมายผู้หนึ่งและต่อสู้ในทางสิทธิมนุษยชน จึงขอตั้งข้อสังเกตที่เป็นการจับตาไปยังท่าทีและแนวทางของดีเอสไอ ว่าจะดำเนินอย่างไรจึงจะเป็นการเหมาะสม และชอบธรรมเมื่อมี "หมายจับ!"
          หากกล่าวถึงเหตุออกหมายจับ ตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ.มาตรา 66 ย่อมหมายความว่า ถ้าไม่มีเหตุออกหมายจับ ศาลจะออกหมายจับไม่ได้ อย่างไรก็ตาม แม้มีเหตุออกหมายจับศาลก็ไม่อาจจะไม่ออกหมายจับก็ได้ ไม่มีกฎหมายมาตราใดบังคับว่า หากมีเหตุออกหมายจับแล้วศาลต้องออกหมายจับ หากศาลเห็นว่าบุคคลนั้นไม่หลบหนีอย่างแน่นอน ศาลอาจไม่ออกหมายจับก็ได้ แม้จะมีเหตุออกหมายจับก็ตาม ซึ่งพนักงานสอบสวนก็จะต้อง "นัดหมาย" หรือออก "หมายเรียก" บุคคลนั้นต่อไป หากบุคคลนั้นไม่มาตามนัดหรือหมายเรียก พนักงานสอบสวนย่อมร้องขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้ตามมาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งศาลก็จะใช้ดุลพินิจว่าจะออกหมายจับตามคำร้องขอครั้งที่สองของพนักงานสอบสวนหรือไม่
         เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ศาลอาญาได้ออกหมายจับ แต่ดีเอสไอก็ใช่ว่าจะต้องจับพระธัมมชโย เพราะเหตุว่าพระธัมมชโยไม่มามอบตัวที่ดีเอสไอภายในเจ็ดวัน หรือตามที่ขีดเส้นตายไว้ กระบวนการในทางอาญายังมีหลักการเป็นแนวทางปฏิบัติอีก จึงอยู่ว่าดีเอสไอจะใช้อำนาจของตนอย่างไร ทั้งนี้ มีข้อพิจารณาอยู่ว่า
         ก.พระธัมมชโย ท่านไม่มาที่ดีเอสไอเพราะเหตุใด มีเหตุอันสมควรหรือไม่
         ข. การต้องบังคับจับกุมตามหมายจับ จะกระทำด้วยความเหมาะสมแก่สถานะของพระธัมมชโย(พระภิกษุ) อย่างไร
        ค. หากดีเอสไอเห็นว่าไม่มามอบตัว จะต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่ติดอาวุธเข้าไปจับกุมในวัดพระธรรมกาย อะไรจะเกิดขึ้น
       
ง. คดีนี้ เป็นเพียงขั้นตอนแรกที่ดีเอสไอจะแจ้งข้อกล่าวหาเพื่อให้โอกาสแก้ข้อหาได้เต็มที่(ย้ำว่าขั้นตอนแจ้งข้อหา) ซึ่งในทางคดี ดีเอสไอควรต้องมีพยานหลักฐานพอสมควรและสามารถกล่าวหาพระธัมชโยได้อย่างหนักแน่น

          ข้อพิจารณาดังกล่าวข้างต้น หากเทียบกับคดีที่มีพระรูปหนึ่งที่ร่วมจัดการชุมนุมทางการเมืองและถูกตั้งข้อหาร้ายแรง ศาลอาญาได้ออกหมายจับไปแล้ว แต่ยังไม่มีจับกุม จนกระทั่งมีกระแสข่าวว่า มีการถอนหมายจับในทางสอบสวนเมื่อสอบเสร็จแล้วส่งสำนวนให้อัยการคดีพิเศษยังได้รับโอกาสให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม แล้วยังไม่สั่งฟ้องต่อศาลกลับทอดเวลานานนับปีได้ ดีเอสไอและอัยการทำอย่างไร เคยมีการชี้แจงต่อสาธารณชนหรือไม่ ดังนั้นด้วยกระบวนการเช่นนี้ เกิดขึ้นภายใต้ความรับผิดชอบของดีเอสไอใช่หรือไม่
           แต่อย่างไรก็ตาม กรณีกล่าวหาพระธัมมชโยนี้ ย่อมจะเป็นสิ่งที่จะสะท้อนถึงบทบาทหน้าที่ของดีเอสไอที่อยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงยุติธรรม มีรัฐมนตรียุติธรรมกำกับดูแลทางด้านนโยบาย ด้านอื่นจะมีหรือไม่ไม่ใช่ประเด็นในที่นี้ นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งสะท้อนถึงการทำงานของคณะพนักงานสอบสวนได้ไม่น้อยในห้วงภาวะการเมืองและอำนาจการปกครองประเทศอย่างมีนัยยะหรือไม่ เพราะผู้คนที่สนใจ อาจมองไปถึงผู้ที่กล่าวโทษตั้งรูปคดีด้วยว่าบุคคลเหล่านั้นมีที่มาอย่างไร สอดรับกับการตั้งข้อรังเกียจของผู้ใดหรือไม่ ข้อกล่าวหาเป็นไปตามหลักกฎหมายที่เป็นฐานความผิดชัดแจ้งและมีพยานหลักฐานได้มั่นคงเพียงใด
            ในทางการสอบสวนและรูปคดี ที่ผ่านมาไม่เพียงเฉพาะดีเอสไอเท่านั้น แต่รวมถึงพนักงานสอบสวนในคดีทั่วไป จะเป็นคดีดัง คดีสะเทือนขวัญ คดีการเมืองก็ตาม การกล่าวหาและการสอบสวนที่มี ก็ล้วนแต่เป็นการผลักภาระไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งหากตั้งสมมุติฐานทางการสอบสวนมาเช่นใดพนักงานอัยการก็ต้องสั่งฟ้องตามพนักงานสอบไป แล้วสุดท้ายภาระทั้งหมดในการแก้ต่างต่อสู้คดีก็ตกแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งจากคำพิพากษาต่างๆในคดีอาญา คำวินิจฉัยและเหตุผลประกอบมักปรากฎว่าให้น้ำหนักแก่การทำงานของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยการไม่มีสาเหตุโกรธเคือง ไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัวกับผู้ต้องหาหรือจำเลยมาก่อน และปฏิบัติหน้าที่ราชการปราศจากอคติใดๆ แล้วท้ายที่สุดพิพากษาลงโทษจำเลย คดีนี้จึงเป็นอีกคดีหนึ่งที่น่าสนใจว่า กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย จะพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าหรือความถดถอยไปหรือไม่ อย่าได้มองเพียงว่า ผลประโยชน์ที่อาจมีวาระซ่อนเร้นจากความขัดแย้งนี้จะตกที่ผู้ใดหรือไม่ แต่อาจต้องมองว่าประชาชนพลเมืองไทยจะต้องเผชิญกับระบบยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรมไปอีกกี่ปีกี่สมัยกัน
      วลีที่ให้ประชาชนต้องเคารพกฎหมาย มิใช่เป็นการใช้กฎหมายตามใจคนใช้ แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องทำให้คนใช้อำนาจตามกฎหมายน่าเคารพและเป็นที่ยอมรับได้.

Cr. https://www.facebook.com/photo.php?fbid=587467968101245&set=a.284778021703576.1073741827.100005141416933&type=3&theater

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น